“เครื่องจักร” เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าหากเครื่องจักรเกิดชำรุดหรือว่าเสียหาย ย่อมทำให้กระบวนการผลิตล่าช้าหรือหยุดชะงัก และส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าตามกำหนด ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและซื้อเครื่องจักรใหม่ ซึ่งความเสียหายเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น เราจะมาบอกให้รู้กันว่าประเภทของการซ่อมบำรุงเครื่องจักรมีแบบไหนบ้าง? และการดูแลเครื่องจักรมีประโยชน์อย่างไร เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการบำรุงเครื่องจักร ตามไปดูกันเลย
รู้จัก 4 ประเภทของงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร
การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข (Corrective Maintenance)
สำหรับประเภทแรกของการบำรุงเครื่องจักร คือการซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข (Corrective Maintenance) เป็นกระบวนการซ่อมบำรุงพื้นฐานที่โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปเลือกใช้กัน ซึ่งมักจะดำเนินการต่อเมื่อมีเครื่องจักรเสียหาย จนไม่สามารถเดินสายกระบวนการผลิตต่อไปได้
การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
ในส่วนของการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เป็นการบำรุงเครื่องจักรเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ ทั้งยังลดความเสี่ยงที่เครื่องจักรจะเกิดปัญหาจนต้องหยุดกระบวนการผลิตอย่างกะทันหัน โดยการบำรุงรักษาเชิงป้องกันสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การบำรุงรักษาตามระยะเวลา (Time Based Maintenance: TBM) เป็นการบำรุงเครื่องจักรอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งการบำรุงรักษาประเภทนี้ จะเป็นการตรวจสภาพ ทำความสะอาดเครื่องจักร ขันสกรูให้แน่น รวมถึงเปลี่ยนอะไหล่ต่าง ๆ ตามความจำเป็น เพื่อป้องกันความเสียหายอย่างฉับพลันของเครื่องจักร
- การบำรุงรักษาแบบคาดการณ์ (Predictive Maintenance) เป็นการดูแลเครื่องจักร โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ ด้วยการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มเกี่ยวกับความเสื่อมสภาพ เพื่อการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งานอีกด้วย
การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Based Maintenance)
เป็นกระบวนการบำรุงรักษาที่เหนือกว่าการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพราะไม่ได้เน้นที่การเปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องจักรตามกำหนดระยะเวลาที่จะหมดอายุการใช้งานเท่านั้น แต่จะมีการตรวจเช็กสัญญาณความผิดปกติในการทำงานของเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นค่าการสั่นสะเทือน อุณหภูมิที่สูงขึ้น มีเสียงดัง มีกลิ่นไหม้ หรือมีคราบการรั่วซึม ซึ่งเมื่อตรวจพบสัญญาณเหล่านี้ ก็จะทำการแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ในทันที
การบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance)
หากให้แนะนำประเภทของการบำรุงเครื่องจักรที่เป็นขั้นสูงสุดของการบำรุงรักษา คงต้องเป็นการบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance) ที่จะให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการชำรุด แล้วนำไปใช้วางแผนในการซ่อมบำรุง รวมถึงวางแนวทางป้องกันไม่ให้เครื่องจักรชำรุดนั่นเอง
ความสำคัญของการบำรุงรักษาเครื่องจักร
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร การซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน อีกทั้งยังช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ช่วยให้ผู้ประกอบการมีสินค้าส่งออกตรงตามกำหนดอีกด้วย
- ยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร อีกหนึ่งความสำคัญของการบำรุงเครื่องจักร คือสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรได้ เป็นการช่วยลดต้นทุนในการซื้อเครื่องจักรใหม่ได้เป็นอย่างดี
- เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว การบำรุงเครื่องจักรยังช่วยป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานผิดพลาด และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานจนเกิดการบาดเจ็บได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานนั่นเอง
- ช่วยลดมลภาวะ การบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม ยังเป็นการช่วยลดมลภาวะได้อีกด้วย เพราะเครื่องจักรที่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้ใช้งาน รวมทั้งยังลดการเกิดฝุ่นละอองและไอของสารเคมีได้อีกด้วย
- ช่วยประหยัดพลังงาน เมื่อเครื่องจักรในอุตสาหกรรมได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยลดความสิ้นเปลืองและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้
สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาบริการซ่อมบำรุงเครื่องจักร Domnick เรามีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญและมีขั้นตอนวิธีการซ่อมบำรุงที่ได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมให้บริการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับทุกอุตสาหกรรม โดยเราจะส่งทีมวิศวกรผู้ชำนาญงานเข้าตรวจเช็กอุปกรณ์ให้ลูกค้าทุก ๆ 6 เดือน และมีบริการหลังการขาย ทั้งอะไหล่ และบริการซ่อมบำรุงรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง